ลูกเสือขอนแก่น

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

ประวัติลูกเสือไทย กิจการลูกเสือไทยถือกำเนิด โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งพระองค์มีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ได้เสด็จไปศึกษา ณ ทวีปยุโรป ทรงศึกษา ภาษาอังกฤษ ณ แอสกอต ศึกษาวิชาฝ่ายพลเรือนในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดและวิชาทหารบกที่โรงเรียน แซนด์เฮิสต์ ทรงศึกษาอยู่นาน ถึง ๙ ปี และระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ ได้ทรงเรียนรู้ถึงการสู้รบ เพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง ของลอร์ด เบเด็ล โพเอลล์ โดยใช้กองทหารเด็กเป็นกำลังช่วยเหลือ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีมาก เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย เมื่อ วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ในเวลานั้นทรงมีพระชนมายุ ๒๒ พรรษา เมื่อทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งกองเสือป่าเมื่อวันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระราชทานคำขวัญว่า " แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ศัตรูกล้ามาประจัญ จะอาจสู้ริปูสลาย" และหลังจากนั้นอีก ๒ เดือน ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) เมื่อ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ ๒๔๕๔( B.- P. จัดตั้งกองลูกเสือครั้งแรกของโลกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ ที่ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันสำนักงานลูกเสือโลกตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การลูกเสือโลก 149 ประเทศ จำนวนสมาชิกลูกเสือมากกว่า 27 ล้านคน สำรวจเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ) ขนานนามว่า กองลูกเสือกรุงเทพฯที่ ๑ และถือว่า วันที่ ๑ กรกฎาคม เป็นวันกำเนิดลูกเสือไทย ทรงพระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือแห่งชาติว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ลูกเสือคนแรกคือ " นายชัพพ์ บุนนาค " (ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น นายลิขิต สารสนอง) เพราะเป็นผู้กล่าวคำปฎิญาณของลูกเสือได้เป็นคนแรก จึงมีพระบรมราชโองการว่า "อ้ายชัพพ์เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว" พระองค์ทรงดำริที่จะก่อตั้ง " เนตรนารี " หรือที่เรียกว่า ลูกเสือหญิง ขึ้นมาด้วย พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ หนังสือชื่อ " แบบสั่งสอนเสือป่าและลูกเสือ " เพื่อใช้เป็นแบบเรียนในการอบรมลูกเสือต่อไป กิจการลูกเสือไทย กิจการลูกเสือเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินการด้วยพระองค์เอง เป็นต้นว่า ทรงตราระเบียบข้อบังคับลักษณะการปกครอง ทรงฝึกอบรมสั่งสอนด้วยพระองค์เองโดยตลอด ในระหว่างรัชกาลของพระองค์ ทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่คณะลูกเสือแห่งชาติดังนี้ ทรงจัดตั้งสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติ และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก ทรงวางนโยบายให้มีการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในโรงเรียนต่างๆ ทรงพระราชนิพนธ์แบบสั่งสอนเสือป่าและลูกเสือบทเพลงรักชาติบ้านเมือง ทรงรับกองลูกเสืออังกฤษ The South-west London Troop ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และให้เป็นกองลูกเสือในพระองค์แห่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม (The King of Siam's Own ) กับพระราชทานตราเครื่องหมายประจำกองด้วย เป็นรูปช้างเผือกยืนบนธงพื้นสีแดง ซึ่งเป็นรูปคล้ายธงช้างเดิม ต่อมากกองลูกเสือนี้ได้ขยายตัวเป็นกลุ่มและเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น The First Balham and Tooting Scout Group. (The King of Siam's Own) โดยยังคงใช้ตราช้างยืนบนพื้นสีแดง เป็นตราประจำกลุ่มสืบมาและใช้ชื่อย่อของกลุ่มว่า K.S.O. ซึ่งย่อมาจากคำว่า The King of Siam's Own

  • พ.ศ. ๒๔๕๕ ขยายกิจการลูกเสือไปตามมณฑลต่างๆ ทั้ง ๑๘ มณฑล รวมมีกองลูกเสือ ๑๖๒ กอง
  • พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้กองลูกเสือบางกองเข้าฝึกซ้อมร่วมกับกองเสือป่าเสนาหลวงรักษาพระองค์ พระองค์ทรงเข้าร่วมซ้อมรบด้วยพระองค์เอง ในคืนที่มีการซ้อมรบพระองค์ได้ออกลาดตระเวณและถูกลูกเสือมณฑลนครชัยศรีจับ ตัวและยึดพระมาลาไปได้ พระอค์มิได้ทรงกริ้วแต่อย่างใด กลับชมเชยและมีพระบรมราชโองการประกาศชมเชยลูกเสือนครชัยศรีและยกย่องให้เป็น ลูกเสือหลวง พระราชทานขลิบหมวกสีเหลืองประดับด้วยขนนกปักติดไว้ด้วย และเป็นลูกเสือรักษาพระองค์(ผู้ที่จับพระองค์ได้คือ นายหมู่สนิท บริสุทธิ์ ลูกเสือแห่งกองมณฑลนครชัยศรี)
  • พ.ศ. ๒๔๕๗ พระราชทานธงประจำกองแก่กองลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯและกองลูกเสืออื่นๆ กองลูกเสือที่ได้รับพระราชทานธงประจำกองในรัชกาลของพระองค์ นอกจากกองกรุงเทพฯที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) ดังกล่าวแล้ว ก็ได้แก่ กองลูกเสือมณฑลกรุงเทพพระมหานคร ลูกเสือกองมณฑลนครชัยศรีที่ ๑ (พระปฐมวิทยาลัย) พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เนื่องในการเสด็จทอดพระเนตรการประลองยุทธเสือป่าและลูกเสือ กองลูกเสือมณฑลนครศรีธรรมราช พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ในคราวเสด็จประพาสปักษ์ใต้ กองลูกเสือมณฑลปัตตานี พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ กองลูกเสือมณฑลภูเก็ตพระราชทานเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ และกองลูกเสือมณฑลราชบุรี พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗
  • วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ พระราชทานเหรียญราชนิยมให้แก่ลูกเสือโทฝ้าย บุญเลี้ยง แห่งกองลูกเสือมณฑลสุราษฎร์ที่ ๑ อายุ ๑๔ ปี ซึ่งได้ช่วยชีวิตชายชราและเด็กหญิงผ่องให้รอดพ้นจากความตาย เมื่อเรือโดยสารล่ม
  • พ.ศ. ๒๔๕๘ โปรดให้มีการประชุมสภานายกกรรมการจัดการลูกเสือมณฑลต่างๆ พร้อมด้วยสภากรรมการกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สโมสรเสือป่าสวนดุสิต และได้เสด็จมาประทับเป็นประธานที่ประชุมด้วยพระองค์เอง โปรดให้ตั้ง " กองฝึกหัดผู้กำกับลูกเสือในพระบรมราชูปถัมภ์" ขึ้นในบริเวณสโมสรเสือป่า เป็นสำนักศึกษาวิชาผู้กำกับลูกเสือทั่วไป
  • พ.ศ. ๒๔๖๓ ส่งผู้แทนลูกเสือไทย ๔ คน เข้าร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งแรกที่ โอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • พ.ศ. ๒๔๖๕ คณะลูกเสือไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะลูกเสือโลก เป็นประเทศที่ ๓ ของโลก
  • วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต

แบบสั่งสอนเสือป่าและลูกเสือ เป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ถือว่าเป็นหัวใจ สำคัญของเสือป่าและลูกเสือ เป็นตำหรับทองของลูกเสือเพื่อใช้ในการฝึกอบรมในยุคนั้น ซึ่งประกอบด้วยบทต่างๆ ดังนี้

  • บทที่ ๑ การสืบข่าวและการเดินทาง
  • บทที่ ๒ อาณัติสัญญาณ
  • บทที่ ๓ การช่างและความรู้เบ็ดเตล็ด
  • บทที่ ๔ การตั้งค่ายและที่พักแรม
  • บทที่ ๕ การอยู่ค่ายและที่พักแรม (ต่อ)
  • บทที่ ๖ ยามและด่าน
  • บทที่ ๗ การพิจารณาสังเกตุและจำ
  • บทที่ ๘ การสะกดรอย
  • บทที่ ๙ การสันนิษฐาน
  • บทที่ ๑๐ การแฝงกายและเกลื่อนรอย
  • บทที่ ๑๑ รายงานและแจ้งเหตุ
  • บทที่ ๑๒ กำบัง
  • บทที่ ๑๓ ตั้งรับ
  • บทที่ ๑๔ ป้องกันตัว
  • บทที่ ๑๕ จับผู้ร้าย
  • บทที่ ๑๖ ช่วยชีวิตและกันภัย
  • บทที่ ๑๗ ปัจจุบันพยาบาล
  • บทที่ ๑๘ ปัจจุบันพยาบาล (ต่อ)

 

 

บทพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

  •  
    • " ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำตรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา "
    • " ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินไซร้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี"
    • "ลูกเสือบ่ใช่เสือสัตว์ไพร เรายืมชื่อมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน ใจกล้ามิใช่กล้าอาธรรม์ เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร กล้ากอร์ปกิจการแห่งชาติประเทศเขตตน "
    • คำนิยามของคำว่า SCOUT จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า ""เด็กที่อยู่ในคณะที่ตั้งขึ้นสำหรับให้เป็นพลเมืองดี "
Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 20,397 Today: 5 PageView/Month: 6

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...